ผู้สมัครงาน
หากสามารถกำหนดชีวิตของตัวเองได้ คงไม่มีใครอยากเป็นคนพิการขาขาด…ไม่ว่าจะรับรู้ก่อนถูกตัดขา หรือตื่นขึ้นมาแล้วพบว่าอวัยวะส่วนหนึ่งต้องขาดหายไปก็ตาม จึงเป็นเรื่องยากในการยอมรับความจริงที่เกิดขึ้น และสิ่งที่สำคัญที่สุดสิ่งหนึ่งที่เปรียบเสมือนชีวิตใหม่ของคนพิการขาขาดนั่นคือ ‘ขาเทียม’
ขาเทียม เป็นอุปกรณ์พิเศษที่ปลุกฝันร้ายจากคนที่เดินไม่ได้ สามารถกลับมาเดินและใช้ชีวิตได้อย่างคนปกติทั่วไป ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ขอพาผู้อ่านไปพบกับสิ่งมหัศจรรย์ ความฝันของผู้พิการที่ปรารถนาจะกลับมาใช้ชีวิตอย่างคนปกติอีกครั้ง…
ผู้พิการขา ส่วนใหญ่จะถูกตัดใต้เข่า หรือที่เรียกว่า เหนือข้อเท้า ประมาณ 51% สูงเป็นอันดับที่ 1
ข้อมูลจาก สถาบันสิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข พบว่า ในประเทศไทยมีจำนวนคนพิการขาขาด โดยมีความจำเป็นที่จะต้องใส่ขาเทียม จำนวน 40,000 กว่าราย
สำหรับสาเหตุของการสูญเสียขานั้น ในอดีตเกิดจากอุบัติเหตุระบบขนส่งมวลชนทางบกเป็นหลัก แต่ปัจจุบันช่วง 5 ปีที่ผ่านมา สาเหตุส่วนใหญ่ของการถูกตัดขากลับเป็นเพราะอาการป่วยโรคเบาหวาน คือ ระบบเส้นเลือด ซึ่งพุ่งสูงแซงเข้ามาอยู่ในอันดับหนึ่ง รองลงมาเกิดจากการติดเชื้อ เช่น กระดูกหัก ติดเชื้อพังผืด และไม่ได้รับการรักษาทำให้ขาเน่า จึงจำเป็นต้องตัดขาออกเพื่อรักษาชีวิต
นวัตกรรมขาเทียมก้าวไกลมาก สามารถทำให้เดินได้คล่องเหมือนคนปกติ
พญ.ดารณี สุวพันธ์ ผอ.สถาบันสิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข
ด้าน พญ.ดารณี สุวพันธ์ ผอ.สถาบันสิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้ร่วมให้ความรู้เรื่องขาเทียมกับทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ โดย พญ.ดารณี เผยว่า ระดับของการตัดขามี 8 ระดับ ได้แก่ 1. ตัดนิ้วเท้า 2. ตัดที่ฝ่าเท้า 3. ตัดที่ข้อเท้า 4. ตัดใต้เข่า หรือเหนือข้อเท้า 5. ตัดระดับเข่า 6. ตัดเหนือเข่า 7. ตัดระดับสะโพก 8. ตัดระดับกระดูกเชิงกราน
ทั้งนี้ ในจำนวนผู้ที่ถูกตัดขา 40,000 กว่ารายในประเทศไทย ส่วนใหญ่จะถูกตัดขาในระดับที่ 4 คือ ตัดใต้เข่า หรือที่เรียกว่า เหนือข้อเท้า โดยมีจำนวน 51% สูงเป็นอันดับที่ 1 รองลงมาเป็นระดับที่ 6 ตัดเหนือเข่า 32%
ขาเทียมแกนใน หรือ ขานิ่ม จะมีฟองน้ำหุ้มข้างนอก ส่วนข้างในจะเป็นแกน
พญ.ดารณี อธิบายถึงประเภทของขาเทียมว่า ขาเทียมจะแบ่งเป็น 2 ประเภทตามลักษณะแกนของขาเทียม โดยประเภทแรกเป็น ขาเทียมแกนนอก เป็นระบบขาเทียมใช้ไม้ หรือโฟมอัดแน่นเป็นแกนขา และหุ้มด้วยพลาสติกเรซิน เพื่อป้องกันการสึกกร่อนและมีความสวยงามคล้ายขาจริง แต่ขาจะมีความแข็ง ซึ่งขาเทียมแกนนอก จะใช้โครงสร้างภายนอกเป็นตัวรับน้ำหนัก และประเภทที่สอง ขาเทียมแกนใน หรือ ขานิ่ม เป็นขาเทียมใช้แกนขาเป็นโลหะ หรือพลาสติกเป็นแกน สามารถใช้งานแบบเปลือย หรือหุ้มด้วยโฟมเพื่อความสวยงาม ทำให้มีความนุ่มคล้ายกับขาจริง
ถ้าถูกตัดขาในระดับสะโพก โอกาสในการเดินได้คล่องอย่างคนปกติอาจจะน้อยกว่า
ขณะเดียวกัน น.ส.วาวแวว ว่องเอกลักษณ์ นักกายอุปกรณ์ชำนาญการ ผู้คลุกคลีกับการทำขาเทียมได้อธิบายเพิ่มเติมว่า ขาเทียมแกนนอกจะมีน้ำหนักมากกว่าขาเทียมแกนใน โดยเฉพาะวัสดุแกนขาที่ทำจากไม้ ในเรื่องความคงทนแข็งแรง ขาเทียมแกนนอกจะมีอายุการใช้งานที่สั้นกว่าขาเทียมแกนใน เพราะวัสดุที่ทำจากไม้เมื่อโดนความชื้น เหงื่อ หรือไอทะเล จะทำให้พังง่าย ขาเทียมแกนนอกหากเกิดการแตกหัก หรือเกิดความเสียหายขึ้นกับส่วนประกอบของขาเทียมส่วนใดส่วนหนึ่งจะต้องผลิตใหม่ทั้งชิ้น เนื่องจากการผลิตเป็นชิ้นส่วนที่ติดต่อกันทุกส่วน ส่วนขาเทียมแกนใน สามารถถอดเปลี่ยนได้ จึงเป็นการลดการสิ้นเปลืองทรัพยากร
นอกจากนี้ ขาเทียมแกนในจะมีการเก็บพลังงาน เมื่อลงน้ำหนักแล้วยกกลับขึ้นมาจะมีพลังงานคืนกลับ เวลาเดินก็จะง่ายขึ้น ช่วยเวลาลงน้ำหนักและก้าวไปข้างหน้าจะง่ายขึ้น และใช้คุณสมบัติของคาร์บอนไฟเบอร์ที่มีการคืนตัว เวลาเดินจะเสมือนจริงกว่า และมีราคาแพงกว่าด้วย
น.ส.วาวแวว ว่องเอกลักษณ์ นักกายอุปกรณ์ชำนาญการ
ค่าใช้จ่ายขึ้นอยู่กับ Level ของการตัด ยิ่งตัดสูงยิ่งแพง
ผอ.สถาบันสิรินธรฯ เผยถึงเรื่องค่าใช้จ่ายของขาเทียมว่า ราคาของขาเทียมและเท้าเทียมจะขึ้นอยู่กับเทคโนโลยีระบบข้อ ซึ่งกลไกข้อขาเทียมมีหลายรูปแบบ ถ้าเป็นรุ่นที่ใช้งานง่ายๆ กลไกไม่ซับซ้อนราคาจะถูก แต่ถ้ามีกลไกข้อเข่าที่มากขึ้นราคาก็จะแพงตามไปด้วย ซึ่งราคาขาเทียมมีตั้งแต่ระดับพันถึงระดับล้าน สูงที่สุดตอนนี้คือสามล้านบาท ส่วนในประเทศไทยส่วนใหญ่จะใช้ขาเทียมแบบขั้นพื้นฐาน ซึ่งถ้าเป็นการตัดเหนือหัวเข่าราคาจะอยู่ราวๆ 30,000 บาท แต่ถ้าเป็นการตัดใต้เข่าราคาก็จะอยู่ที่ 12,000 บาท
นอกจากนี้ ยังมีขาเทียมรุ่นพิเศษสำหรับบุคคลที่มีร่างกายแข็งแรง อายุยังไม่มาก สามารถใช้ประโยชน์ในการประกอบอาชีพได้ และขาจะต้องตรงกับลักษณะที่จะใส่รุ่นพิเศษ โดยจะต้องผ่านการตรวจของแพทย์และมีคณะกรรมการกลั่นกรองจึงจะได้รุ่นพิเศษนี้ เนื่องจากมีราคาสูง ข้างละ 70,000 บาทขึ้นไป
สำหรับอายุการใช้งานระหว่างขาเทียมราคาแพงและขาเทียมทั่วไปไม่ได้แตกต่างกัน ซึ่งปกติแล้วจะอยู่ประมาณ 3 ปี ทางสถาบันฯ จะให้เบิกใหม่ได้ทุกๆ 3 ปี และสามารถซ่อมแซมได้ปีละ 1 ครั้ง เพราะส่วนที่เป็นเท้าด้านนอกจะพังก่อนเพราะต้องรับน้ำหนักตัวและสัมผัสกับพื้นผิวมาก
หากถูกตัดขาระดับใต้เข่า เมื่อใส่ขาเทียมแล้วสามารถเดินได้เหมือนคนปกติ
ใช้คุณสมบัติคาร์บอนไฟเบอร์ เวลาเดินส้นจะเด้ง แต่ต้องใช้กับคนที่ค่อนข้างแข็งแรง
ขาเทียมสุดล้ำ! ฝังชิพบันทึกการเดินเลียนแบบตัวตนมากที่สุด
ปัจจุบันนวัตกรรมขาเทียมพัฒนาไปไกลมาก โดยเป้าหมายหลักเพื่อให้คนพิการสามารถเดินได้เสมือนคนปกติ พญ.ดารณี กล่าวว่า นวัตกรรมข้อเข่าเทียมเป็นนวัตกรรมที่พัฒนาสูงมาก โดยใช้ระบบไมโครโปรเซสเซอร์ มีชิพฝังไว้ในข้อเข่า และก่อนใส่จะมีการปรับลักษณะการเดินให้ใกล้เคียงกับตัวผู้ใส่มากที่สุดไม่ว่าจะเป็นความยาวของการก้าว ความเร็ว การลงน้ำหนัก ซึ่งจะบันทึกโดยระบบคอมพิวเตอร์ เมื่อเดินบ่อยๆ ตัวไมโครโปรเซสเซอร์จะเก็บข้อมูลและจำลักษณะท่าทางของผู้ใส่ไว้ก่อนที่จะสั่งการออกมาให้เดินได้เป็นตัวเราปกติ เหมือนกับว่ามีกลไกสมองอีกจุดที่ฝังอยู่บนข้อเข่า ทำให้เดินคล่องขึ้นใกล้เคียงตัวเรามากที่สุด เพราะท่าเดินแต่ละคนไม่เหมือนกัน
และนวัตกรรมเรื่องของข้อเท้าได้พัฒนาตามมาเช่นกัน ปัจจุบันนี้มีกลไกที่ออกแบบโดยใช้คาร์บอนไฟเบอร์เป็นวัสดุชนิดหนึ่งที่มีการยืดหยุ่น สามารถเก็บพลังงานทำให้เมื่อเดินแล้วไม่เหนื่อย และยังมีการกระดกเท้าขึ้นลง เอียงซ้ายขวาได้ ส่วนอนาคตข้างหน้า คงจะทำแบบข้อเข่า คือ มีการฝังไมโครชิพไว้ที่ข้อเท้า
ขาเทียมทำให้ผู้พิการขาสามารถกลับมาใช้ชีวิตอย่างคนปกติได้
เอาใจช่วยพระเอกหนุ่มปอ หายป่วยเร็วๆและกลับคืนวงการอีกครั้ง
พญ.ดารณี กล่าวต่อว่า สำหรับเท้าเทียมที่มีเทคโนโลยีระดับสูงในประเทศไทย จะมีราคาอยู่ที่ประมาณ 150,000 บาท ซึ่งผลิตจากคาร์บอนไฟเบอร์ทำให้แข็งแรงทนทานและน้ำหนักเบา มีคุณสมบัติพิเศษ คือ มีสปริงที่ช่วยในการลงน้ำหนักของเท้าทำให้ท่าทางการเดินสวยงามใกล้เคียงกับธรรมชาติ และช่วยดูดซับแรงกระแทกขณะลงส้น สามารถบิดตัวและตะแคงได้เล็กน้อยบนพื้นผิวที่ไม่เรียบ และยังสามารถดูดซับพลังงานสะสมหรือแรงดีด จากตัว Energy Storage ก่อนที่จะคลายพลังงานออกมาในจังหวะที่ก้าวไปข้างหน้า เพื่อให้เวลาเดินแล้วไม่เหนื่อย ผู้ใช้จะใช้พลังงานในการเดินลดลง เหมาะสำหรับขาเทียมระดับใต้เข่า
“ในกรณีของคุณ ปอ ทฤษฎี ถ้าสภาพร่างกายกลับมาเป็นปกติทุกอย่าง การตัดขาเหนือข้อเท้าที่ไม่สูงมาก จะไม่เป็นอุปสรรคในการเล่นละคร ยิ่งถ้าการตัดขาออกไปไม่มาก การใช้ขาเทียมและฝ่าเท้าเทียมที่มีเทคโนโลยีชั้นสูงจะทำให้ท่าทางการเดินเป็นธรรมชาติ เนื่องด้วยนวัตกรรมของขาเทียมสมัยใหม่ ทำให้สามารถดำรงชีวิตได้อย่างอิสระ ยิ่งถ้าตัดระดับใต้เข่า เมื่อใส่ขาเทียมแล้วสามารถเดินได้เหมือนคนปกติ และถ้าใส่กางเกงขายาวปิดยิ่งไม่มีใครรู้ บางคนวิ่งได้ไวกว่าคนปกติอีก และหลังจากฟื้นตัวแล้ว น่าจะใช้ระยะเวลาประมาณ 1 เดือน ก็คงเดินได้ปกติ แต่ขึ้นอยู่กับแผลที่ตัดด้วย ถ้าแผลหายไวซึ่งคาดว่าไม่น่าจะเกิน 2 อาทิตย์ ก็จะสามารถหล่อเบ้าเพื่อใส่ในตอขาได้เร็ว เมื่อหล่อเบ้าและใส่ขาเทียมเสร็จก็จะฝึกเดินและปรับความคุ้นเคยได้เร็วขึ้น” ผอ.สถาบันสิรินธรฯ กล่าวให้กำลังใจ
ชิ้นส่วนที่พังง่ายที่สุดคือ เท้าที่ใส่หุ้มแกนข้างใน เพื่อให้เสมือนเท้าจริงๆ แต่ฟังก์ชั่นการทำงานอยู่ที่ตัวข้างใน
สังคมไทยมีแนวโน้มให้ความสนใจและให้ความสำคัญกับคนพิการมากขึ้น แต่สิ่งอำนวยความสะดวกอาจจะมีน้อยเกินไป
หากพูดถึงเรื่องคนพิการ สังคมไทยมีแนวโน้มให้ความสนใจและให้ความสำคัญมากขึ้น รวมถึงยังคอยช่วยเหลือเกื้อกูลอยู่เสมอมา แต่กระนั้นแล้ว สิ่งอำนวยความสะดวกให้แก่คนพิการอาจจะยังน้อยเกินไป ซึ่งถ้ามีอุปกรณ์ที่อำนวยความสะดวกให้คนพิการที่เพียงพอ จะทำให้สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างปกติสุข ทำงานสร้างรายได้ให้ประเทศมากขึ้นด้วย
พญ.ดารณี ยกตัวอย่างให้เห็นภาพชัดเจนขึ้นว่า กลุ่มที่มีปัญหาทางการเคลื่อนไหว เมื่อเดินไม่ได้ต้องทำทางลาดให้ ประตูห้องน้ำต้องบานใหญ่เพื่อให้รถเข็นเข้าได้ สิ่งอำนวยความสะดวกเหล่านี้มีความจำเป็นมากขึ้นไม่ได้เฉพาะกับคนพิการแต่สำหรับคนชราด้วย แต่ในเมืองไทยยังถือว่าน้อยไป เพราะคนไทยยังไม่ตื่นตัวกับเรื่องเหล่านี้
“ไม่ได้หมายความว่าคนไทยไม่ให้ความสำคัญ แต่เป็นเพราะภาครัฐยังให้ความรู้ความเข้าใจกับสังคมไทยน้อยเกินไป ถ้าสังคมตื่นตัวและรู้ว่าเรื่องเหล่านี้มีความจำเป็น เชื่อว่าคนไทยต้องสนใจในเรื่องนี้มากขึ้นและจะมีการสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกให้คนพิการเพิ่มมากขึ้นแน่นอน” ผอ.สถาบันสิรินธรฯ ฝากคำแนะนำทิ้งท้าย.
หางานตามสาขาอาชีพ
JOBBKK.COM © สงวนลิขสิทธิ์ All Right Reserved